Barcode Printer-เครื่องพิมพ์บาร์โค้ด


 
 
 
 
 
 
 
 
 

บาร์โค้ด คือ ?

บาร์โค้ด (Barcode) คือ รหัสแท่ง ประกอบด้วยเส้นมืด (มักจะเป็นสีดำ) และเส้นสว่าง (มักเป็นสีขาว) วางเรียงกันเป็นแนวดิ่ง ใช้แทนตัวเลขและตัวอักษร ถูกนำมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้คอมพิวเตอร์รับเอาข้อมูลเข้าไปประมวลผลได้ง่าย รวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำขึ้น โดยใช้เครื่องอ่านบาร์โค้ด (Barcode Scanner) เป็นตัวส่งผ่านข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยการแยกความกว้างระหว่างพื้นที่มืดและพื้นที่สว่างออกมาเป็นรหัสตัวเลข เมื่อแสงจากเครื่องอ่านบาร์โค้ดมากระทบบาร์โค้ดในลักษณะวางพาดขวาง แสงสะท้อนที่ออกจากเส้นมืดจะน้อยกว่าแสงที่สะท้อนออกจากพื้นที่สว่าง เครื่องอ่านบาร์โค้ดจะแปลงแสงสะท้อนนี้เป็นรหัสส่งไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ บาร์โค้ดจึงช่วยลดการผิดพลาดในการคีย์ข้อมูลได้เป็นอย่างมาก นอกจากนั้นบาร์โค้ดยังช่วยประหยัดเวลลดค่าใช้จ่าย และใช้ทรัพยากรบุคคลน้อยลงอีกด้วย

บาร์โค้ด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ บาร์โค้ด 1 มิติ (1D) และบาร์โค้ด 2 มิติ (2D)

บาร์โค้ด 1 มิติ (1D) มีลักษณะเป็นเส้นขาวดำที่มีความหนาบางสลับกัน เหมาะกับการใช้งานทั่วไปที่ไม่ต้องการใช้พื้นที่ในการเก็บข้อมูลเยอะ เช่น รหัสสินค้า ชื่อผลิตภัณฑ์ เลขประจำตัว เลขสมาชิก Serial no. และ Lot no. ของสินค้า เป็นต้น บาร์โค้ด   1 มิติ ที่นิยมใช้ในประเทศไทยมีอยู่ 3 ตระกูล คือ EAN 13, Code 39, Code 128

 ● EAN 13 (European Article Numbering) เป็นแบบบาร์โค้ดที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก และเป็นบาร์โค้ดมาตรฐานสากลที่เราต้องไปขึ้นทะเบียนกับ GS1 เป็นตัวเลขชุด 13 หลัก นิยมใช้กับสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป 

 เช่น อาหาร เครื่องดื่ม บาร์โค้ด EAN 13 จะมีลักษณะเฉพาะของชุดตัวเลขจำนวน 13 หลัก ซึ่งมีความหมายดังนี้ 

  ● 3 หลักแรก คือ รหัสของประเทศผู้ผลิต
  ● 4 หลักถัดมา คือ รหัสโรงงานที่ผลิต
  ● 5 หลักถัดมา คือ รหัสของสินค้า
  และตัวเลขในหลักสุดท้าย จะเป็นตัวเลขตรวจสอบความถูกต้องของบาร์โค้ด (check digit)

 Code 39 และ Code 128 เป็นบาร์โค้ดที่ไม่ต้องขึ้นทะเบียน ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในงานอุตสาหกรรม หน่วยงานของรัฐ และองค์กรเอกชน สามารถนำมาใช้ได้ฟรีกับสินค้าทั่วไป บาร์โค้ดแบบนี้เป็นรหัสที่ไม่กำหนดจำนวนหลัก   

 ขึ้นอยู่กับความสามารถของเครื่องอ่านบาร์โค้ด และไม่จำเป็นต้องมีตัวเลขในการตรวจสอบความถูกต้องของบาร์โค้ด สามารถแสดงได้ทั้งตัวเลขและตัวอักษร รวมถึงอักขระพิเศษ (ASCII)

  ● Code 39 มีการเพิ่มเครื่องหมาย “*” ที่หลักแรกและหลักสุดท้ายเพื่อบอกตำแหน่งเริ่มต้นและตำแหน่งสิ้นสุด จำกัดตัวอักษรเฉพาะ A-Z, 0-9, +, -, %, $

● Code 128 บาร์โค้ดชนิดนี้ถูกนำมาใช้มากกว่า Code 39 เพราะสามารถใช้ตัวอักษรและอักขระพิเศษได้ทุกตัวบนคีย์บอร์ด

บาร์โค้ด 2 มิติ (2D) เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาเพิ่มเติมจากบาร์โค้ด 1 มิติ โดยออกแบบให้บรรจุข้อมูลได้ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ทำให้สามารถบรรจุข้อมูลได้มากถึงประมาณ 4,000 ตัวอักษร หรือประมาณ 200 เท่าของบาร์โค้ด 1 มิติ ในพื้นที่เท่ากันหรือเล็กกว่า สามารถบรรจุข้อมูลภาษาอื่นนอกจากภาษาอังกฤษได้ เช่น ภาษาไทย ญี่ปุ่น จีน หรือ เกาหลี เป็นต้น บาร์โค้ด 2 มิติ สามารถถูกถอดรหัสได้แม้ว่าบาร์โค้ดบางส่วนเกิดการเสียหาย บาร์โค้ด 2 มิติ ที่นิยมใช้ทั่วไปมี 3 ตระกูล คือ QR Code, Data Matrix และ PDF417

● PDF417 (Portable Data File) ลักษณะบาร์โค้ดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เครื่องอ่านบาร์โค้ดจะสามารถอ่านได้ในทิศทางเดียว เช่น อ่านจากทางซ้ายไปขวา หรือ ขวาไปซ้าย และอ่านจากบนลงล่าง หรือ ล่างขึ้นบน บาร์โค้ดชนิดนี้เหมาะสำหรับงานที่ต้องการความละเอียดและถูกต้องเป็นพิเศษ

● Data Matrix ลักษณะบาร์โค้ดมีทั้งรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสและสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนใหญ่ใช้ในงานที่มีพื้นที่จำกัดและต้องการบาร์โค้ดขนาดเล็ก บาร์โค้ดชนิดนี้เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็คโทรนิค อาหาร อะไหล่รถยนต์ และเครื่องจักร เป็นต้น  

● QR Code (Quick Response) ลักษณะบาร์โค้ดเป็นรูปสี่เหลี่ยม บาร์โค้ดชนิดนี้เหมาะสำหรับเว็บไซต์ จ่ายบิล ชำระเงิน เพิ่มเพื่อนใน LINE ตั๋วเข้างานต่างๆ Bording Pass ตั๋วเครื่องบิน เป็นต้น

ครื่องพิมพ์บาร์โค้ด (Barcode Printer)

เครื่องพิมพ์บาร์โค้ด โดยทั่วไปจะพิมพ์กับสติ๊กเกอร์บาร์โค้ด หรือป้าย Tag ทั้งนี้เครื่องพิมพ์บาร์โค้ดไม่ได้พิมพ์ได้แค่บาร์โค้ดอย่างเดียว ยังสามารถพิมพ์ชื่อสินค้า ราคาสินค้า รวมไปถึงรายละเอียดของสินค้านั้นๆ ขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้ใช้อีกด้วย เครื่องพิมพ์บาร์โค้ดจะถูกแบ่งเป็น 2 ระบบ นั่นคือ  ● แบบถ่ายโอนความร้อนผ่านริบบ้อน (Thermal Transfer) ● แบบถ่ายโอนความร้อนโดยตรง (Direct Thermal) 

● แบบถ่ายโอนความร้อนผ่านริบบ้อน (Thermal Transfer Printer)

เครื่องพิมพ์บาร์โค้ด ประเภทนี้จะมีริบบ้อนเป็นตัวกลางระหว่างหัวพิมพ์ที่เป็นตัวส่งผ่านความร้อนและวัสดุที่นำมาพิมพ์ โดยหัวพิมพ์จะส่งผ่านความร้อนไปบนริบบ้อน เพื่อให้หมึกแว๊กซ์ที่ติดอยู่บนฟิล์มอีกด้านหนึ่งของริบบ้อนหลอมติดกับวัสดุ
ดังกล่าว ริบบ้อนที่ใช้ในการพิมพ์แบบนี้ไม่สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ และ การพิมพ์ผ่านริบบ้อนนี้จะได้งานพิมพ์เพียงสีเดียวขึ้นอยู่กับสีริบบ้อนที่ใช้

● แบบถ่ายโอนความร้อนโดนตรง (Direct Transfer Printer)

เครื่องพิมพ์บาร์โค้ดประเภทนี้จะถ่ายโอนความร้อนจากหัวพิมพ์สัมผัสกับกระดาษที่มีเคมีในการรับความร้อนโดยตรงและทำปฏิกิริยากับเคมีในกระดาษทำให้เกิดภาพ โดยไม่ต้องอาศัยริบบ้อน การถ่ายโอนความร้อนลักษณะนี้จะเป็น
ลักษณะเดียวกับการถ่ายโอนความร้อนลงบนกระดาษแฟ๊กซ์ของเครื่อง Fax งานพิมพ์ที่ใช้การพิมพ์แบบถ่ายโอนความร้อนโดยตรง จะมีอายุการใช้งานสั้น ไม่ทนต่อแสง และอุณภูมิสูง เมื่อทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน ข้อมูลที่พิมพ์ออกมาจะจางไปเรื่อยๆ เช่น ตั๋ว คูปอง บัตรจอดรถ เป็นต้น งานพิมพ์ฉลากลักษณะนี้ นิยมใช้กันในอุตสาหกรรมอาหาร และสินค้าที่มีการหมดอายุภายในเวลาไม่เกิน 1 ปี และสินค้านั้นควรเก็บในสถานที่ที่อุณหภูมิต่ำ เครื่องพิมพ์บาร์โค้ดแบบถ่ายโอนความร้อนโดยตรง จะไม่มีหน่วยใส่ริบบ้อน ราคาอาจจะถูกกว่า เครื่องพิมพ์บาร์โค้ดแบบใช้ริบบ้อนประมาณ 10-15%

เหตุใดเครื่องพิมพ์บาร์โค้ด จึงเป็น Solution ที่ควรเลือก ?

เทคโนโลยีบาร์โค้ดเป็นโซลูชั่นด้านข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานทั้งประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ฉลากบาร์โค้ดเป็นระบบเก็บข้อมูลโดยอัตโนมัติ และยังช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ดังนั้น สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ การพิมพ์ฉลากจะต้องมีความถูกต้องเที่ยงตรง เพื่อไม่ให้การสื่อสารข้อมูลผิดพลาด จำเป็นต้องเลือกเครื่องพิมพ์บาร์โค้ดที่มีคุณภาพดี พิมพ์งานรวดเร็ว สวยงาม อ่านได้ชัดเจน และเชื่อถือได้ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อเนกประสงค์สนองตอบความต้องการได้อย่างครอบคลุมในทุกส่วนของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์ฉลากและสติ๊กเกอร์หลายรูปแบบหรือการพิมพ์ออกใบเสร็จ สามารถรองรับการทำงานร่วมกับโปรแกรมบริหารการขายหน้าร้านและอุปกรณ์บาร์โค้ดอื่น ๆ เพื่อช่วยจัดการข้อมูลและจัดการระบบติดตามสินค้า รวมถึงควบคุมสต๊อกสินค้าคงคลังได้เป็นอย่างดี 

เนื่องจากเครื่องพิมพ์มีตัวเครื่องกะทัดรัดเท่าเครื่องพิมพ์ตั้งโต๊ะทั่วไป ช่วยประหยัดพื้นที่ติดตั้ง ขณะที่ประสิทธิภาพสูงเกินตัว คุณภาพงานพิมพ์มีความละเอียด ทำงานรวดเร็วเหมาะสำหรับพิมพ์ ฉลากปริมาณมากในแต่ละวัน หัวพิมพ์ทนทานใช้งานคุ้มค่า เป็นเครื่องมือที่เชื่อถือได้และราคาย่อมเยาว์ ระบบการพิมพ์ฉลากแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ เครื่องพิมพ์บาร์โค้ด วัสดุที่ใช้ในการพิมพ์อย่างหมึกริบบ้อนและกระดาษสติ๊กเกอร์ และโปรแกรมการออกแบบฉลากซึ่งแถมมากับตัวเครื่องและใช้งานง่าย
เป็นพิเศษ เพื่อให้ทุกคนทำฉลากบาร์โค้ดตามมาตรฐานได้ด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องมีทักษะ ความชำนาญมากนัก ตัวเครื่องเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วย USB มีพอร์ต Ethernet เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์หลายเครื่องในเครือข่ายเดียวกัน ทำให้ผู้ใช้งานออกแบบฉลากสติกเกอร์ แก้ไขและแชร์ข้อมูล พร้อมกับสั่งพิมพ์ได้ทันที มีหน่วยความจำสำหรับเก็บไฟล์เอกสารได้

เครื่องพิมพ์บาร์โค้ดมีประโยชน์อย่างสำคัญในงานพิมพ์ฉลากบาร์โค้ด บริษัทธุรกิจทั่วไปต้องอาศัยการพิมพ์บาร์โค้ดเพื่อปรับปรุงการจัดการข้อมูล และลดค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มผลกำไรตอบแทนมากขึ้น เหมาะสำหรับธุรกิจค้าปลีก คลังสินค้า การขนส่งและโลจิสติกส์ งานพิมพ์ลาเบลและป้ายของธุรกิจ โรงงานอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เครื่องพิมพ์บาร์โค้ดไม่เพียงเป็นโซลูชั่นที่ใช้งานง่าย แต่ยังมีโครงสร้างที่ทนทานต่อความร้อน ความเย็น และป้องกันความชื้นทำให้ใช้งานในสภาพแวดล้อมของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอุณหภูมิระหว่าง 5-40 องศาเซลเซียส สร้างความมั่นใจและความไว้วางใจ ในการใช้งานหนักต่อเนื่องยาวนาน

โดยปกติแล้วธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรมทั้งจะต้องมี ระบบบาร์โค้ด เป็นเครื่องมือช่วยประหยัดเวลาในการตรวจสินค้าคงคลัง ลดขั้นตอนการนับจำนวนสินค้า ไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อน ทั้งยังทำให้เกิดความแม่นยำในการจัดเก็บข้อมูล ตลอดจนการติดตามการขนส่งสินค้า สามารถลดค่าใช้จ่าย จากในส่วนต่าง ๆ ทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นมากกว่าเดิมและประโยชน์ด้านอื่น ๆ การเลือกใช้ฟังก์ชันและคุณสมบัติตรงตามที่ผู้ใช้ต้องการจะขึ้นอยู่กับความต้องการ ทางธุรกิจของผู้ประกอบการแต่ละรายที่จะนำเครื่องพิมพ์บาร์โค้ด ไปใช้ช่วยส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคธุรกิจให้สูงขึ้น โดยเฉพาะการค้าปลีกเป็นธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องมีความคล่องตัวและยืดหยุ่นทางการบริหารสูง ระบบบาร์โค้ดจะช่วยบริหารงานขาย
หน้าร้านให้มีประสิทธิภาพ สามารถปรับตัวตามการแข่งขันได้เร็วเมื่อเทียบกับคู่แข่ง